คิดใหม่ ทําใหม่ เพื่อคลังสินค้าแห่งอนาคต : เจนบรรเจิด (Jenbunjerd) ผู้นำด้านการผลิต จัดจำหน่าย และส่งออกอุปกรณ์จัดเก็บยกย้ายที่มีความหลากหลาย

Contact Info

  • 359 Bondstreet Rd.(Chaengwattana 33), Bangpood, Pakkred, Nonthaburi 11120 Thailand
  • info@jenbunjerd.com
  • 02-096-9898 (200 คู่สาย)
คิดใหม่ ทําใหม่ เพื่อคลังสินค้าแห่งอนาคต

คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อคลังสินค้าแห่งอนาคต!

การแข่งขันที่สูงขึ้น ความต้องการของลูกค้าในการได้รับสินค้าที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น แรงงานที่หายาก และค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเป็นความท้าทายที่ผู้จัดการคลังสินค้าทุกรายต้องเผชิญ มีการนำนวัตกรรมและวิธีการทำงานใหม่ๆเข้ามามากขึ้นในช่วงผลัดเปลี่ยนนี้ ความน่าสนใจและพัฒนาการของระบบคลังสินค้า Smart Warehouse ในช่วงนี้น่าตื่นตาตื่นใจมาก เมื่อเทียบกับตลาดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

บทบาทใหม่ของ Fulfillment: ขับเคลื่อนงานขาย!

คลังสินค้าในอดีตเป็นสถานที่จัดเก็บสินค้าคงคลังและบริหารการเข้า-ออกของสินค้าแบบเต็มแพลเลท ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจที่ต้องลงทุนและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูง แต่บทบาทคลังสินค้าในปัจจุบันและอนาคตจะต้องเป็นตัวขับเคลื่อนการนำสินค้าออกสู่ตลาด และเป็นตัวจักรสำคัญที่จะช่วยให้งานของฝ่ายขายและการตลาดประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการตอบสนองต่อคำสั่งซื้อ (ระยะเวลาที่ใช้ในการเตรียมสินค้าและบรรจุหีบห่อให้พร้อมส่งตามรอบรถ) ในหลายที่ได้เปลี่ยนจากเดิมที่วัดผลแบบวันต่อวัน กลายเป็นชั่วโมงต่อชั่วโมงแทน หากบริษัทแห่งหนึ่งสัญญาว่าจะส่งสินค้าภายในวันเดียวกับที่คุณสั่งซื้อ หากส่งไม่ทันรับส่วนลดพิเศษทันที ในกรณีนี้ บริษัทดังกล่าวต้องมีระบบการจัดการคลังสินค้าที่สามารถตอบสนองตามสัญญาที่ให้ไว้กับลูกค้าได้ ซึ่งจะแตกต่างจากคลังสินค้าแบบเดิมโดยสิ้นเชิง

 

รับมือกับ SKU ที่มากขึ้น และให้อยู่ใน DC สั้นที่สุดด้วยระบบอัตโนมัติ

เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า ศูนย์กระจายสินค้าทุกแห่งต้องแบกรับการเพิ่มของจำนวนสินค้า และรูปแบบของสินค้า (SKU) ที่มากขึ้นทุกปี ในขณะเดียวกัน สินค้าทุกรายการต้องใช้เวลาใน DC ให้สั้นที่สุด จากการสำรวจตลาดในสหรัฐเมื่อปี 2018 พบว่า ศูนย์กระจายสินค้าใหญ่ๆมีจำนวน SKU เพิ่มขึ้นปีละ 6% และระยะเวลาของสินค้าที่อยู่ใน DC ลดลงปีละ 10% คลังสินค้าหลายแห่งจึงต้องนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้งาน เช่น AS/RS, Shuttle Rack, รถยกและรถขนถ่ายวัสดุอัตโนมัติ และอุปกรณ์บรรจุภัณฑ์อัตโนมัติสามารถช่วยในขั้นตอนต่างๆของงานคลังสินค้าได้ คลังสินค้าบางแห่งก็เริ่มมีการนำโดรนเข้ามาช่วยเบิกจ่ายสินค้าแล้ว

 

 

 

 

เเรงงานใหม่ หุ่นยนต์! เพื่อการทํางานเเห่งอนาคต

คลังสินค้าอัตโนมัติในความคิดของคนส่วนใหญ่มักจะเป็นอาคารสูงที่ใช้ระบบหุ่นยนต์ในการเบิกจ่ายสินค้า และใช้โดรนในการจัดส่งถึงมือลูกค้า ซึ่งปัจจุบันมีความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างคลังสินค้าอัตโนมัติที่เซี่ยงไฮ้ ของ JD.com บริษัท e-Commerce รายใหญ่ของจีน ใช้แรงงานคนเพียงไม่กี่คน ที่เหลือเป็นระบบหุ่นยนต์และอุปกรณ์อัตโนมัติปฏิบัติงานทั้งหมด ถือเป็นระบบอัตโนมัติที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งหนึ่งเลยก็ว่าได้ เป็นความฝันของหลายๆบริษัท ในทศวรรษหน้า เราจะได้เห็นพัฒนาการที่ล้ำสมัยมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเชื่อมต่อกับระบบอัตโนมัติหรือระบบหุ่นยนต์อื่นๆด้วย เช่น “คลังสินค้ามืด” ที่ไม่จำเป็นต้องมีแสงสว่างหรือบุคลากรทำงานภายในอาคารเลย และทำงานได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ 

ถึงแม้ว่าปัจจุบันระบบหุ่นยนต์ในคลังสินค้าจะยังไม่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่เทรนด์การใช้หุ่นยนต์เบิกจ่ายสินค้าจะมาอย่างแน่นอน เช่นเดินไปหยิบของที่พนักงานคลังสินค้าใส่ลังไว้ให้แล้ว หรือหุ่นยนต์ที่อยู่กับที่หยิบสินค้าจากลังเข้าตู้คอนเทนเนอร์เพื่อเตรียมส่งออก หรือ หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (AMRs) เคลื่อนที่ไปจุดเบิกจ่าย หยิบสินค้า และเคลื่อนที่ไปยังจุดถัดไป 

อย่างไรก็ตาม แม้ระบบหุ่นยนต์จะสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว ไม่มีอาการเหนื่อยล้าเหมือนกับคน ในศูนย์กระจายสินค้าก็ยังมีความต้องการคน แต่ความสามารถที่ต้องการนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปมาก คือต้องรอบรู้ด้านเทคนิคเพื่อให้สามารถใช้งานระบบต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

อัจฉริยภาพของระบบซอฟท์แวร์และเซ็นเซอร์

คลังสินค้าอัตโนมัติเดิมจะเน้นเรื่องความเร็วในการเบิกจ่ายสินค้าหรือประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันจะเน้นเรื่องความสามารถและอัจฉริยภาพของระบบด้วย เช่น ระบบสามารถสั่งเบิกจ่ายสินค้าพร้อมกันจากสามตำแหน่งมายังสถานีบรรจุเพื่อปิดงานได้หรือไม่  ระบบสามารถคาดการณ์ว่ามอเตอร์หรือสายพานกำลังจะเสีย และแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบก่อนที่อุปกรณ์จะเสียได้หรือไม่ ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้เกิดจากการที่เซ็นเซอร์ต่างๆจับตาดูสภาพการทำงาน เก็บข้อมูล และวัดผลการทำงาน โดยทำงานร่วมกับซอฟท์แวร์ และคำนวณค่าการทำงานที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

คลังสินค้าสมัยใหม่ ต้องตอบโจทย์การค้าปลีก

ในสหรัฐ ยุคของการค้าปลีกขนาดใหญ่ที่ต้องมีศูนย์กระจายสินค้าหลายๆแห่งเพื่อจัดเก็บสินค้าคงคลังและตอบโจทย์ในการสั่งซื้อของลูกค้านั้น ถือว่าล้าสมัยไปเรียบร้อยแล้ว เดิมทีศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ในสหรัฐมักจะมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 46,000 ตารางเมตร และอยู่ใกล้กับบริษัทรับจัดส่งสินค้า ปัจจุบันหลายๆบริษัทได้หันไปใช้บริการคลังสินค้ากลางเมืองที่มีขนาดเล็กลงและอยู่ใกล้กับลูกค้าในหัวเมืองใหญ่ เช่น ชิคาโก ซานฟรานซิสโก หรือนิวยอร์ค เพื่อตอบโจทย์การส่งสินค้าภายในวันเดียวกันกับการสั่งซื้อ (Same-day Delivery) คลังสินค้าเหล่านี้อาจมีความสูง 2-4 ชั้น เพื่อให้ใช้พื้นที่ได้คุ้มค่ายิ่งขึ้น การสร้างคลังสินค้าที่มีความสูงหลายชั้นเป็นเรื่องท้าทายมาก เพราะต้องสามารถรองรับการรับ-ส่งสินค้าและการเคลื่อนย้ายสินค้าภายใน ยกตัวอย่างในปี 2017 บริษัท Prologis ได้สร้างคลังสูงสามชั้นในซีแอทเทิล พร้อมทางยกระดับที่ให้รถบรรทุกขับขึ้นจุดรั-ส่งสินค้าที่ชั้นสองได้ พร้อมกับลิฟท์ขนสินค้าที่เชื่อมจุดรับ-ส่งสินค้าในแต่ละชั้นได้ 

คลังสินค้ากลางเมืองสามารถให้บริการครบวงจร เช่น บริการเติมเต็มสินค้า (Fulfillment) การขนส่ง last mile หรือเป็นโชว์รูมไปในตัวก็ได้ ทั้งยังสามารถทำหน้าที่เป็นเหมือนห้องหลังร้านขนาดใหญ่ที่ใช้เก็บของ ช่วยลดจำนวนสต็อกที่ร้านค้าปลีกต้องสต็อก ใช้พื้นที่ในการจัดเก็บให้น้อยลง ทำให้สามารถลดขนาดของหน้าร้านลง และหันไปเพิ่มรอบการส่งให้ถี่ยิ่งขึ้น

อีกรูปแบบคือผู้ค้าปลีกและซุปเปอร์มาร์เก็ตปรับพื้นที่ว่างด้านหลังของร้านค้าปลีก หรือพื้นที่ว่างในห้างสรรพสินค้ามาเป็นคลังย่อยใช้ในการจัดเก็บเพื่อตอบโจทย์การส่งแบบ last mile เพื่อให้ตอบสนองคำสั่งซื้อทางออนไลน์ให้รวดเร็วที่สุด โดยใช้พื้นที่ไม่มาก ค่าใช้จ่ายไม่สูง ดูแลง่าย 

 

 

*สื่อโฆษณา/ชิ้นงาน ข้อความในบทความนี้ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของ บริษัท เจนบรรเจิด จำกัด ผู้ใดละเมิดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

The commercial, including articles and artworks shown is an intellectual property of Jenbunjerd Co.,Ltd.
Unauthorized reproduction is prohibited and may subject to criminal prosecution.