
EP.3 ป้องกันไว้ก่อน! หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุจากการใช้รถฟอร์คลิฟท์ได้อย่างไร?
วันนี้เราได้รวมรวมปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุจากการใช้รถฟอร์คลิฟท์ที่มาจากสภาพแวดล้อมการทำงาน รวมทั้งแนวทางป้องกัน ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของซีรีส์ เพื่อให้ผู้จัดการมั่นใจว่าการทำงานนั้นปลอดภัยและถูกต้องตามกฎระเบียบของบริษัท รวมทั้งป้องกันอุบัติเหตุและความเสียหายที่อาจจะตามมา นอกจากรถฟอร์คลิฟท์ยังรวมถึงอุปกรณ์เคลื่อนย้ายอื่นๆ เช่น รถAGV รถแฮนด์ลิฟท์
ปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากกำลังการผลิตที่สูงขึ้น คิวงานแน่น หรือปริมาณสินค้าเข้าออกมากๆในช่วงใกล้เทศกาล จนทำให้จำนวนรถฟอร์คลิฟท์หรือคนขับไม่เพียงพอ หรือการจัดสรรไม่สอดคล้องกับงาน คนขับต้องทำงานด้วยความเร็วหรือความเครียดมากขึ้น ส่งผลให้ความปลอดภัยถูกมองเป็นเรื่องรอง เพราะจำเป็นต้องตอบโจทย์งานให้ทันเวลา แต่การเร่งรีบจนเกินไปอาจเป็นภัยเงียบที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นการชน รถพลิกคว่ำ สินค้าตกหล่นเสียหาย ซึ่งทั้งหมดแล้วล้วนมีค่าใช้จ่ายและค่าเสียเวลาตามมามหาศาล
ข้อจำกัดของสถานที่ ยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุ ผู้ขับรกยกจึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ลักษณะพื้นที่ที่ต้องระวังเช่น
- พื้นที่ที่แคบมากๆหรือสภาพพื้นไม่เหมาะสม
- พื้นที่มีสิ่งกีดขวาง หรือสินค้าวางอยู่หนาแน่น ตามแยกหรือประตูเข้าออก
- พื้นที่ที่มีความลาดชันหรือพื้นผิวที่ไม่เรียบ
- พื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมในการทำงานโดยรวมไม่ดี เช่นมีแสงสว่างไม่เพียงพอ หรือมีการรบกวนจากเสียง กลิ่น ฝุ่นควัน
ไม่มีการจัดแบ่งโซนพื้นที่ในคลังให้ชัดเจน โดยปกติแล้วคลังสินค้าต้องแยกพื้นที่ระหว่างคนเดินและรถฟอร์คลิฟท์ให้ชัดเจนและห่างให้มากที่สุดเพื่อความปลอดภัย ควรกำหนดมาตรการความปลอดภัย นโยบายด้านพื้นที่ และการทำงานให้ชัดเจน เช่น
- หากจำเป็นต้องมีพนักงานทำงานในพื้นที่ที่มีรถฟอร์คลิฟท์ทำงานด้วย ควรกำหนดให้ชัดเจนทั้งจำนวนคนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ที่รถฟอร์คลิฟท์วิ่งและจำนวนรถฟอร์คลิฟท์ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เดียวกัน รวมทั้งมีอุปกรณ์สื่อสารให้กับพนักงานคนนั้นๆ และแจ้งให้คนขับทราบทุกครั้งเมื่อมีบุคคลเข้ามาในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ผู้รับเหมา หรืออื่นๆ
- คนขับควรเลี่ยงการขับขี่รถยกไปในพื้นที่ที่มีคนเดินพลุกพล่าน เช่น ใกล้สำนักงาน ห้องพักเบรก หรือตามประตูต่างๆ
- พนักงานที่เดินอยู่ในคลังไม่ควรเข้าใกล้รถฟอร์คลิฟท์ที่กำลังทำงานและไม่ควรทำงานใดๆใกล้กับรถที่กำลังยกสินค้าสูง เพราะหากเกิดอุบัติเหตุสินค้าหล่น อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ชั้นวางสินค้าและแพลเลทชำรุด หรือมีสภาพไม่สมบูรณ์ อายุการใช้งานของชั้นวางสินค้าและแพลเลทขึ้นอยู่กับคุณภาพของการผลิตและวัตถุดิบ ไปจนถึงสภาพแวดล้อมการทำงาน และพฤติกรรมการใช้งานของพนักงานคลังสินค้า ดังนั้นจึงควรมีการตรวจสอบสภาพอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุกปี รวมทั้งเช็คว่าชั้นวางมีการบรรจุเกินน้ำหนักที่กำหนดหรือไม่ upright frames มีความเสียหายหรือไม่ bracing มีแอ่น งอ หรือไม่ มีเกิดสนิมหรือการกัดกร่อนหรือไม่ หากพบปัญหาดังกล่าว พนักงานต้องรีบแจ้งผู้จัดการคลังสินค้าให้ทราบทันที การใช้อุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุ อย่างเช่น กันชนเสาแร็ค หรือ ราวกันชน ติดตั้งในบริเวณที่มีรถฟอร์คลิฟท์วิ่งผ่าน เพื่อป้องกันรถเบียดเสา ไม่เกิดความเสียหายทั้งรถ และเสา ก็ช่วยลดความรุนแรงของการเฉี่ยวชนได้
สินค้าที่ยกไม่เสถียร การยกสินค้าที่ไม่เสถียรอาจทำให้สินค้าหล่นลงมาขณะทำการยกและเป็นอันตรายต่อพนักงานคนอื่นๆ หรืออาจทำให้รถพลิกคว่ำ เป็นอันตรายต่อคนขับด้วยได้ แต่การดูความเสถียรของสินค้าที่จะยกกลับมักจะถูกมองข้าม รถฟอร์คลิฟท์ไมว่าจะยกสินค้าชิ้นใหญ่ หรือชิ้นเล็กๆที่เรียงกันอยู่บนแพลเลท สินค้าต้องได้รับบรรจุหีบห่อที่มิดชิด และควรจัดเรียงให้กระจายน้ำหนักอย่างทั่วถึงทั้งแพลเลท อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มียื่นออกมานอกพาเลท และต้องตรวจเช็คทุกครั้งว่าสินค้าที่จะยกนั้นมีความเสถียรหรือไม่ สินค้าที่ยกมีการจัดเรียงที่ไม่เป็นระเบียบ หรือมีโอกาสตกหล่นจากแพลเลทหรือไม่ หากมี ให้ทำการรัดหรือพันฟิล์มยืดเพื่อให้สามารถยกได้อย่างปลอดภัย
*สื่อโฆษณา/ชิ้นงาน ข้อความในบทความนี้ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของ บริษัท เจนบรรเจิด จำกัด ผู้ใดละเมิดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
The commercial, including articles and artworks shown is an intellectual property of Jenbunjerd Co.,Ltd.
Unauthorized reproduction is prohibited and may subject to criminal prosecution.