EP.2 ป้องกันไว้ก่อน! หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุจากการใช้รถฟอร์คลิฟท์ได้อย่างไร? : เจนบรรเจิด (Jenbunjerd) ผู้นำด้านการผลิต จัดจำหน่าย และส่งออกอุปกรณ์จัดเก็บยกย้ายที่มีความหลากหลาย

Contact Info

  • 359 Bondstreet Rd.(Chaengwattana 33), Bangpood, Pakkred, Nonthaburi 11120 Thailand
  • info@jenbunjerd.com
  • 02-096-9898 (200 คู่สาย)
EP.2 ป้องกันไว้ก่อน! หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุจากการใช้รถฟอร์คลิฟท์ได้อย่างไร?

EP.2 ป้องกันไว้ก่อน! หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุจากการใช้รถฟอร์คลิฟท์ได้อย่างไร?

อุบัติเหตุในคลังสินค้าจากพฤติกรรมการขับขี่รถฟอร์คลิฟท์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และความเสียหายที่สามารถป้องกันได้ง่ายๆทันทีเพียงทำงานให้ถูกวิธี วันนี้เราได้รวมรวมปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งแนวทางป้องกัน ซึ่งไม่เพียงแต่การใช้งานรถฟอร์คลิฟท์เท่านั้น ยังสามารถนำไปปรับใช้กับอุปกรณ์เคบื่อนย้ายอื่นๆ เช่น รถAGV รถยกพาเลท รถแฮนด์ลิฟท์

ใช้ความเร็วสูงในการขับขี่ การใช้ความเร็วสูงในพื้นที่จำกัดมักก่อให้เกิดอุบัติเหตุมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ผู้ขับขี่และผู้จัดการคลังฯควรตระหนักถึงความปลอดภัยนี้และบังคับใช้ความเร็วที่เหมาะสมกับงานหรือพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งควรเป็นกฎเหล็กในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่งานน้อยหรืองานเยอะก็ตาม เช่นต้องชะลอความเร็วบริเวณทางแยก และในจุดที่การจราจรพลุกพล่าน โดยเฉพาะทางเข้าออก และบริเวณลานโหลดซึ่งเป็นจุดที่มีความหนาแน่นและชุลมุนที่สุดของคลังสินค้า ที่นอกจากต้องระวังคนงานแล้ว ยังต้องระวังอุปกรณ์ที่ใช้งานในบริเวณนั้นด้วยเช่น รถยกลาก เป็นต้น หากต้องการตัดความเสี่ยงดังกล่าว ควรแจ้งผู้ผลิตให้ติดตั้งระบบจำกัดความเร็วของรถให้ 

 

 

ขาดการอบรมการใช้งานรถฟอร์คลิฟท์ที่ถูกต้อง จึงขับขี่รถยกด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม เช่น

  • ใช้ความเร็วในขณะที่กำลังยกสินค้าขึ้นสูง 
  • ถอยรถโดยไม่ได้สังเกตพื้นที่โดยรอบก่อน
  • เร่ง เบรก หรือหักเลี้ยวกะทันหัน
  • ไม่ได้ทำการห้ามล้อขณะที่นำรถฟอร์คลิฟท์ขึ้นรถขนส่ง
  • ทำงานสองอย่างภายในเวลาเดียวกัน เช่น ทั้งยกโหลดและเลี้ยวรถพร้อมกัน ความเสถียรของโหลดขณะยกนั้นต่ำมากอยู่แล้ว หากเลี้ยวไปพร้อมๆกันจะทำให้รถพลิกคว่ำได้ ดังนั้นหากต้องเลี้ยวหรือใช้ความเร็ว ควรลดระดับงาให้ต่ำก่อน แล้วจึงทำการเลี้ยวและยกสินค้าใหม่

ดังนั้นผู้จัดการคลังควรกำหนดให้คนขับทุกคนเข้าอบรมหลักสูตรการขับรถยกอย่างปลอดภัยและถูกวิธีจากผู้จัดจำหน่ายที่ผ่านการรับรองได้รับใบอนุญาตจัดตั้งศูนย์อบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

ขาดการสื่อสารระหว่างคนขับและพนักงานอื่นๆ ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เช่น ขับขี่รถโดยไม่ส่งสัญญาณเสียงหรือไฟให้รถคันอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียง คลังสินค้าส่วนใหญ่มีกิจกรรมมากมาย ทั้งการเคลื่อนย้าย เบิกจ่าย จัดเตรียมสินค้า มีพนักงานทำงานอยู่มากมายในพื้นที่เดียวกัน ต้องให้มีการสื่อสารต่อพนักงานด้วยสัญญาณเสียง (แตร) หรือใช้วิทยุสื่อสารเพื่อแจ้งให้คนที่อยู่พื้นที่ทราบ หากไม่มั่นใจควรถามก่อนทุกครั้ง

 

 

ไม่ศึกษาเส้นทางที่จะขับไป การขับขี่รถยกในคลังอาจเจอกับสิ่งกีดขวางต่างๆ เช่น สินค้าที่รอส่ง หรือพนักงานที่กำลังเบิกจ่ายสินค้า รวมไปถึงความสูงของประตู พื้นที่แคบหรือมีเพดานต่ำกว่าขนาดของรถ หลายครั้งที่คนขับอาจไม่ได้สังเกตพื้นที่ที่จะขับขี่รถเข้าไป ทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการชน พื้นฐานของการขับขี่อย่างปลอดภัยคือก่อนที่จะเคลื่อนรถหรือยกโหลดต่างๆ คนขับควรสังเกตจุดสำคัญต่างๆ มองรอบด้านด้วยความระมัดระวัง และศึกษาเส้นทางก่อนเริ่มทำงาน หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่แคบเพื่อเลี่ยงโอกาสที่จะเกิดการเฉี่ยวชนขึ้น ดังนั้นควรกำหนดมาตรฐานในการทำงาน และพนักงานขับรถควรเอาใจใส่เวลาขับขี่ทุกครั้ง

ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย การขับขี่ยานพาหนะทุกประเภทคือการใส่เข็มขัดนิรภัยเสมอ ซึ่งรวมไปถึงรถฟอร์คลิฟท์ด้วย คนขับอาจจำเป็นต้องทำหลายหน้าที่และขึ้นลงจากรถบ่อยครั้ง แต่ก็ควรที่จะใส่เข็มขัดนิรภัยเสมอ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุจะช่วยป้องกันไม่ให้คนขับหลุดออกจากตัวรถ หรือถูกรถทับได้ ผู้จัดการคลังฯควรกำหนดนโยบายนี้ให้เป็นมาตรฐานในการทำงานทุกครั้ง

จอดรถทิ้งไว้โดยไม่สนใจขั้นตอนที่ถูกต้อง การจอดรถฟอร์คลิฟท์ที่ถูกวิธีคือต้องจอดไว้ในที่ที่กำหนด ลดระดับงา ดึงเบรคมือ และดับเครื่องก่อนลงจากรถทุกครั้ง การจอดทิ้งรถฟอร์คลิฟท์ไว้โดยที่ไม่ได้ลดระดับงาลงอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่พนักงานอาจเกิดการบาดเจ็บจากการสะดุดงาหรือเดินชนงาได้ และหากไม่ได้ดึงเบรคมือก็มีโอกาสที่รถฟอร์คลิฟท์จะไหลไปชนสินค้าหรือผนังอาคาร ก่อให้เกิดความเสียหายได้เช่นกัน

ขับขี่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่ว่าจะเป็นการซิ่งแข่งกัน ให้คนโดยสารรถด้วยการเกาะหรือโหน หรือนำรถไปใช้งานนอกเหนือจากที่ผู้ผลิตแนะนำ เป็นความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน 

ขึ้น-ลงจากรถไม่ถูกวิธี พนักงานขับรถฟอร์คลิฟท์อาจเคยชินกับการใช้งานรถมากจนลืมเรื่องเล็กๆที่อาจเป็นอันตรายได้ นั่นคือการขึ้นลงจากรถให้ถูกวิธี บางครั้งพนักงานขับรถอาจจำเป็นต้องขึ้นลงจากรถหลายครั้งในแต่ละวัน ซึ่งการเร่งรีบมากๆอาจทำให้สะดุดเลื่อนล้มขณะขึ้นลงรถ เกิดอาการบาดเจ็บโดยไม่จำเป็น รถฟอร์คลิฟท์ โดยเฉพาะรุ่นที่มีขนาดใหญ่มักมีห้องโดยสารที่อยู่สูงจากพื้นพอสมควร ระมัดระวังในการขึ้นหรือลงโดยใส่รองเท้าที่เหมาะสมกับงาน (แนะนำให้ใช้รองเท้าที่หุ้มมิดชิดหรือรองเท้าเซฟตี้) และใช้ที่จับเพื่อช่วยประคองตัวเสมอ เพื่อป้องกันโอกาสที่จะสะดุดหรือลื่นล้ม ผู้จัดการควรกำหนดจุดสัมผัส 3 จุด ในการขึ้นลงจากรถทุกครั้ง – จับที่จับสองจุด แล้วก้าวขึ้นรถ หรือขณะลง เท้าสองข้างอยู่บนรถ แล้วจับหนึ่งจุดก่อนก้าวลง

 

 

 

*สื่อโฆษณา/ชิ้นงาน ข้อความในบทความนี้ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของ บริษัท เจนบรรเจิด จำกัด ผู้ใดละเมิดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

The commercial, including articles and artworks shown is an intellectual property of Jenbunjerd Co.,Ltd.
Unauthorized reproduction is prohibited and may subject to criminal prosecution.