
EP.4 AMRs กับ AGVs แบบไหนตอบโจทย์ธุรกิจคุณมากกว่ากัน?
ที่ผ่านมา รถขนถ่ายวัสดุอัตโนมัติ (Automated Guided Vehicles หรือ AGVs) เป็นเพียงทางเลือกเดียวที่สามารถตอบโจทย์การเคลื่อนย้ายสินค้าแบบอัตโนมัติภายในอาคารได้ แต่ปัจจุบัน AGVs กำลังถูกท้าทายด้วยหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (Autonomous Mobile Robots หรือ AMRs) ที่มีคุณสมบัติสูง ยืดหยุ่น และประหยัดมากกว่า ถึงแม้ว่าทั้ง AGVs และ AMRs สามารถเคลื่อนย้ายสินค้าได้เหมือนกัน แต่จริงๆแล้วมีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงในหลายๆด้าน
- การนำร่องแบบตายตัว vs ระบบนำร่องแบบอัจฉริยะ
สำหรับ AGVs แบบดั้งเดิมนั้น อุปกรณ์บนตัวรถจะไม่ได้มีคุณสมบัติมากมาย ใช้โปรแกรมที่เรียบง่าย รองรับรูปแบบการทำงานซ้ำๆและเส้นทางที่ตายตัว โดยการนำร่องจำเป็นต้องกำหนดเส้นทางด้วยขดลวดเหนี่ยวนำแบบฝังพื้น แถบแม่เหล็ก หรือเซ็นเซอร์ต่างๆขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นที่ที่จะใช้งาน ซึ่งใช้เวลาและค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือสายการผลิตที่ต้องปิดตัวชั่วคราวระหว่างการติดตั้งระบบ และจากการที่การนำร่องของ AGVs จะถูกบังคับด้วยเส้นทางที่ติดตั้งไว้ตั้งแต่ต้น หากจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเส้นทางก็จะเกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม นอกจากนี้ AGVs จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเส้นทางการทำงานเองได้หากมีสิ่งกีดขวาง โดยจะหยุดทำงานจนกว่าสิ่งกีดขวางจะถูกเคลื่อนย้ายออกไป
ในทางตรงกันข้าม AMRs จะใช้แผนที่ที่โปรแกรมสร้างขึ้นจากการนำร่องครั้งแรก หรือจากการโหลดแผนที่เส้นทางลงไปในตัวอุปกรณ์ ซึ่งคล้ายคลึงกับระบบ GPS ที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์ เมื่อได้มีการทดสอบนำร่อง กำหนดจุดเริ่มต้นเบิกจ่ายและจุดส่งของที่ปลายทางแล้ว ระบบ AMRs จะสามารถกำหนดเส้นทางในการเคลื่อนที่ที่สั้นที่สุดโดยอัตโนมัติ เพื่อไปยังจุดที่กำหนด โดยอาศัยแผนที่หรือพิมพ์เขียวที่ติดตั้งอยู่ในหน่วยความจำของตัวหุ่นยนต์ โปรแกรมที่ติดตั้งอยู่ในตัวรถ รวมไปถึงระบบปัญญาประดิษฐ์ การสังเกตแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ กล้องและเซ็นเซอร์ต่างๆในการหลบหลีกสิ่งกีดขวางต่างๆได้ด้วยตัวเอง ทำให้ทำงานร่วมกับคนหรืออุปกรณ์อื่นๆในคลังสินค้าหรือโรงงานอย่างรถยก พาเลท และคนงานได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะชนหรือทำให้ AMRs หยุดชะงัก ซึ่งช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็วและราบรื่น งานเดินต่อเนื่องตามตารางที่วางไว้
- เฉพาะทาง vs ยืดหยุ่นสูง
คุณสมบัติที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดที่สุดของ AGVs กับ AMRs คือ ความยืดหยุ่นในการทำงาน โดย AGVs จะถูกตั้งโปรแกรมมาแบบตายตัวและต้องเดินทางตามเส้นทางขดลวดหรือแถบแม่เหล็กที่ถูกกำหนดมาแล้วเท่านั้น ทำให้ใช้งานได้ในวงจำกัด และการเปลี่ยนเส้นทางหรือการทำงานมีค่าใช้จ่ายสูง หรือต้องหยุดงานเพื่อดัดแปลงเส้นทางเดิน ซึ่งไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมขึ้นมา
ส่วน AMRs นั้นทำงานด้วยตัวเองแบบเอกเทศ สามารถกำหนดเส้นทางที่ใช้เวลาเดินทางที่สั้นที่สุดได้โดยอัตโนมัติ ทั้งยังปรับเปลี่ยนการทำงานได้อย่างรวดเร็วด้วยการตั้งค่าหรือลงโปรแกรมใหม่ ทำให้ AMRs รองรับสภาพแวดล้อมและเนื้องานที่หลากหลาย หรือคิวงานที่เปลี่ยนไปได้ง่ายกว่า สามารถทำงานร่วมกับคนในงานเบิกจ่ายหรือจัดเรียงสินค้า นอกจากนี้ยังรองรับการสั่งการผ่านระบบควบคุมกลางที่คุม AMRs หลายๆตัวพร้อมกัน ทำให้สลับสับเปลี่ยนคิวงานตามลำดับความสำคัญ และจัดเส้นทางการจราจรของ AMRs แต่ละตัวได้ทันทีโดยดูจากตำแหน่งและคิวงานของ AMRs ณ เวลานั้น ซึ่งง่ายกว่าให้พนักงานมาจัดสรรคิวงานของ AGVs แต่ละคัน ทำให้พนักงานสามารถใช้เวลากับงานที่มีมูลค่ามากกว่า
- องค์กรแบบดั้งเดิม vs องค์กรที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
บริษัทที่ลงทุนใน AMRs สามารถเป็นเจ้าของระบบได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ต้องพึ่งการบริการจากผู้ให้บริการแบบ AGVs ด้วยความยืดหยุ่นของ AMRs นี้เองที่ตอบโจทย์การทำงานในโรงงานหรือคลังสินค้าสมัยใหม่ทุกขนาด ที่ต้องการความรวดเร็วและความยืดหยุ่นในการผลิตอยู่ตลอดเวลา เช่น การดัดแปลงสินค้าในสายการผลิตให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า หรือเปลี่ยนจำนวนผลิต ณ เวลานั้นๆ โดยสามารถเพิ่มจำนวน AMRs ได้ตามจำนวนงานที่เพิ่มขึ้นได้ หรือหากมีการเพิ่มขั้นตอนหรือสายการผลิตเพิ่มเติม ก็สามารถดัดแปลงแผนที่ของ AMRs เพื่อให้ตอบโจทย์ของความต้องการ และทำงานกับสายการผลิตใหม่ได้ทันที
- การลงทุนมูลค่าสูง vs การลงทุนที่คุ้มค่า
สำหรับ AGVs องค์กรต้องลงทุนกับอุปกรณ์และระบบที่มีมูลค่าสูงและระยะเวลาคืนทุนนาน ขณะที่ถึงแม้ว่า AMRs จะใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนกว่า AGVs แต่กลับมีราคารวมทั้งโครงการที่ต่ำกว่า เพราะไม่ต้องดัดแปลงโครงสร้างอาคาร ไม่ต้องกรีดพื้นเพื่อลงขดลวดหรือติดตั้งแถบแม่เหล็กต่างๆ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าและติดตั้งได้รวดเร็วกว่า ที่สำคัญคือไม่ต้องหยุดสายการผลิตหรือการทำงาน เพราะสามารถติดตั้งแผนที่ลงในระบบได้โดยไม่ต้องกำหนดเส้นทางที่หน้างาน จากการที่ AMRs สามารถเริ่มใช้งานได้ง่ายและรวดเร็วกว่า ประโยชน์ที่ได้รับและการคืนทุนจาก AMRs จึงเห็นผลได้รวดเร็วกว่า (บางองค์กรสามารถคืนทุนได้อย่างรวดเร็วเพียงระยะเวลา 6 เดือน) หรือหากมีปริมาณงานเพิ่มเติม ก็สามารถเพิ่ม AMRs ได้อย่างรวดเร็วด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง
- พิจารณาก่อนที่จะเดินหน้าต่อ
AMRs เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการช่วยงานภายในคลังสินค้าให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยมากขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มกำไรด้วยการลงทุนที่ประหยัดกว่าระบบอัตโนมัติอื่นๆ อย่างไรก็ตาม AMRs อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ทุกธุรกิจเสมอไป แต่ละธุรกิจล้วนมีสินค้าที่มีขนาดแตกต่างหลากหลาย แต่หากต้องใช้งานกับสินค้าที่มีขนาดใหญ่มาก หรือน้ำหนักมากๆ AMRs อาจไม่ตอบโจทย์ ในกรณีนี้การลงทุนระบบอัตโนมัติอื่นๆเช่น AGVs หรือ AS/RS จะตรงจุดมากกว่า ดังนั้นควรหาที่ปรึกษาที่มีความชำนาญเพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการใช้งานและความคุ้มค่าในการลงทุน หาก AMRs ไม่ตอบโจทย์ ก็ยังมีระบบอัตโนมัติอื่นๆอีกมากมายที่สามารถช่วยยกระดับการทำงานให้กับองค์กรของคุณ
*สื่อโฆษณา/ชิ้นงาน ข้อความในบทความนี้ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของ บริษัท เจนบรรเจิด จำกัด ผู้ใดละเมิดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
The commercial, including articles and artworks shown is an intellectual property of Jenbunjerd Co.,Ltd.
Unauthorized reproduction is prohibited and may subject to criminal prosecution.