
EP.3 คิดประยุกต์อย่างสร้างสรรค์ในการนำ AMRs มาใช้ให้เหมาะกับงาน
หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (Autonomous Mobile Robots หรือ AMRs) ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานในคลังสินค้า แต่จะให้คุ้มค่าในการลงทุน ผู้บริหารต้องคิดประยุกต์อย่างสร้างสรรค์ในการนำ AMRs มาใช้ให้เหมาะกับงาน
การที่ AMRs จะได้รับการตอบรับในวงกว้างหรือไม่ ก็เหมือนกับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่อื่นๆ คือยังขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้จะสามารถพิสูจน์ถึงความคุ้มค่าของการนำ AMRs ไปใช้งานในคลังได้ขนาดไหน จุดสำคัญในการพิจารณาความคุ้มค่าของ AMRs ก็คือ ยิ่ง AMRs สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้ลงตัวมากเท่าไหน ก็ยิ่งคุ้มค่ามากขึ้นเท่านั้น อาจจะฟังดูขัดแย้ง แต่การปรับขั้นตอนการทำงานของมนุษย์เป็นอีกจุดที่สามารถช่วยลดจำนวน AMRs ที่ต้องใช้ต่อจำนวนคนงานได้ หรือพูดอีกแบบหนึ่งก็ได้ว่า ยิ่งถ้าสามารถปรับหน้างานให้มนุษย์ทำงานร่วมกับ AMRs ได้ดียิ่งขึ้นเท่าไหร่ ก็จะสามารถลดจำนวนหุ่นยนต์ที่ต้องใช้ลงได้เท่านั้น โดยยังได้ปริมาณและคุณภาพงานที่ทัดเทียมกัน
ทำความรู้จัก AMRs 3 ระบบหลัก
ซึ่งมีอยู่ 3 ระบบหลักๆได้แก่
- ระบบ Goods-to-person – AMRs นำกล่อง ลัง หรือชั้นวางสินค้า ไปยังพนักงานที่สถานีเพื่อเบิกจ่ายสินค้า
- ระบบ Robot-to-Goods – AMRs วิ่งไปยังสถานีเบิกจ่าย และรอพนักงานหยิบสินค้ามาให้
- ระบบ Conveyance Robot – ทำหน้าที่เป็นระบบขนส่ง เพื่อลดระยะเวลาเดินของพนักงาน เหมือนกับระบบสายพานดั้งเดิมหรือระบบขนถ่ายวัสดุอัตโนมัติ (AGVs)
โดยระบบ Conveyance Robot ซับซ้อนและท้าทายกว่าตรงที่ต้องประสานการทำงานของบุคลากรร่วมกับระบบสายพานดั้งเดิม และควบคุมด้วยระบบการจัดการคลังสินค้า Warehouse Control System หรือ WCS ขณะที่ระบบ Robot-to-Goods ต้องมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางการเดินสินค้าในคลังใหม่ทั้งหมด
ใช้งาน Robot-to-Goods ให้คุ้มค่าต้องมุ่งเน้นที่บุคลากร
AMRs แบบ Robot-to-Goods เป็นที่จับตามอง เพราะมีโอกาสที่จะขยายตัวในตลาดคลังสินค้า e-commerce มากที่สุด จากการที่หุ่นยนต์ชนิดนี้มีความยืดหยุ่นในการทำงาน และใช้เงินลงทุนน้อยกว่าระบบอัตโนมัติเดิม ไม่ว่าจะเป็นระบบจัดเก็บและเบิกจ่ายอัตโนมัติ (AS/RS) หรือระบบเบิกจ่ายอัตโนมัติแบบอื่นๆ
ระบบ Robot-to-Goods จะไม่ได้ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของแรงงานคนทั้งหมดที่ทำงานร่วมกับหุ่นยนต์โดยตรง แต่แรงงานคนจะเป็นส่วนเสริมการทำงานให้กับหุ่นยนต์มากกว่า ในการทำงาน พนักงานจะเดินไปหา AMRs ที่อยู่ใกล้ที่สุด แล้วอ่านคำสั่งที่ปรากฏอยู่บนจอของ AMRs เมื่อพนักงานหยิบสินค้าและสแกนเสร็จ จะวางสินค้าไว้บน AMRs แล้วเดินตาม AMRs ตัวนั้นไป หรือเดินไปหา AMRs อีกตัว เพื่อรับคำสั่งต่อไป ปัญหาของระบบนี้ก็คือเวลาที่เสียไปกับการอ่านคำสั่งและเดินไปมาเพื่อนำสินค้า
ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้พนักงานและ AMRs ระบบ Robot-to-Goods ควรนำ Work Execution Software (WES) และโปรแกรมที่ใช้งานใน Smart Phone / Pad Device เพื่อให้พนักงานและหุ่นยนต์ทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ
- โปรแกรมจะสามารถแนะนำเส้นทางและสินค้าที่ต้องเบิกจ่ายตามทิศทางที่พนักงานกำลังเดินไปยัง AMRs ตัวต่อไปได้ ช่วยลดการเดินตัวเปล่า และเพิ่มความถี่ในการเบิกจ่ายต่อคนงาน
- การใช้โปรแกรมบน Smart Phone / Pad Device ช่วยลดการเสียเวลาในการเดินตัวเปล่าเพื่อไปอ่านคำสั่งบนตัว AMRs และพนักงานสามารถเช็คความถูกต้องได้อีกรอบด้วยการดูที่หน้าจอบน AMRs หรือด้วยการสแกนสินค้าตอนเดินไปถึงตัว AMRs แล้ว
- การจัดสรรให้พนักงานทำการเบิกจ่ายได้โดยอิสระ ไม่ต้องอิงกับตัวหุ่นยนต์ จะช่วยลดระยะเวลาที่หุ่นยนต์ต้องรอ และเดินทางไปมาระหว่างโซน เป็นการเพิ่มอัตราความถี่การเบิกจ่ายของหุ่นยนต์ด้วย เพราะหุ่นยนต์ไม่ต้องรอสินค้าหรือเดินทางไปยังจุดอื่นๆแบบตัวเปล่า
ระบบ WES ยังสามารถช่วยจัดสรรจำนวนพนักงานและหุ่นยนต์ให้เหมาะสมกับงานในแต่ละโซนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจำนวนงานเพิ่มขึ้นหรือลดลงในช่วงระหว่างกะ หากมีงานเบิกจ่ายมากขึ้นในโซนนั้นๆ ระบบก็จะจัดสรรหุ่นยนต์หรือพนักงานลงไปในโซนนั้นๆเพิ่ม หรือเปลี่ยนแปลงลำดับการเบิกจ่าย หรือปรับเส้นทางการเดินให้เหมาะสมกับพนักงานและหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่มีค่าเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในสภาพการปฏิบัติงานในปัจจุบัน ซึ่งศูนย์กระจายสินค้าต้องคำนึงการใช้พื้นที่และการเว้นระยะห่างในแต่ละช่องทางเดินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
การใช้ Conveyance Robot ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
AMRs แบบ Conveyance Robot มีคุณสมบัติและประโยชน์ที่เหนือกว่าสายพานลำเลียงทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า ยืดหยุ่นกว่า เพราะเปลี่ยนเส้นทางการลำเลียงได้ ติดตั้งได้ง่ายและรวดเร็ว นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดพื้นที่ในโซนเบิกจ่าย และไม่ก่อให้เกิดทางตันหรือขวางทางเหมือนกับระบบสายพานลำเลียงเดิม Conveyance Robot จึงเหมาะสำหรับศูนย์กระจายสินค้าที่ไม่สามารถลงทุนในระบบสายพานขนาดใหญ่ หรือคลังสินค้าที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการทำงานจัดเก็บและเบิกจ่ายอยู่ตลอดเวลา
จากรูปจะแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของ Conveyance Robot ที่เหนือกว่าระบบสายพานทั่วไป คือหากโยกสายพานออก จะช่วยเพิ่มพื้นที่เบิกจ่ายได้สูงขึ้นถึง 33% และช่วยให้พนักงานเดินไปยังตำแหน่งต่างๆได้โดยไม่มีสายพานลำเลียงขวางทาง
ความท้าทายในการใช้งาน Conveyance Robot ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น จะคล้ายคลึงมากกับการใช้สายพานลำเลียงที่ควบคุมด้วยระบบการจัดการคลังสินค้า (Warehouse Control System หรือ WCS) โดยจะมีการใช้ Work Execution Software (WES) ในการจัดลำดับความสำคัญของงานและการกระจายงานไปยังพนักงานในโซนต่างๆ และพนักงานในแต่ละโซนการเบิกจ่ายก็ทำงานตามที่ได้รับการแนะนำจาก app บน Smart Phone / Pad Device ซึ่งทำงานร่วมกับ WCS เมื่อการเบิกจ่ายเสร็จสมบูรณ์ พนักงานก็จะนำรถเข็นหรือกล่องที่บรรจุสินค้าเรียบร้อยแล้วไปไว้ยังตำแหน่งรับสินค้าเพื่อให้ Conveyance Robot รับสินค้าไปส่งยังสถานีต่อไป
WES จะทำหน้าที่ประสานงานส่งสินค้าไปยังสถานีต่างๆ ร่วมกับระบบ Robotic Control System ที่ควบคุม AMRs ซึ่งจะคล้ายคลึงกับการทำงานร่วมกันกับ WCS หุ่นยนต์จะส่งสินค้าระหว่างโซนเบิกจ่ายต่างๆ และจากโซนเบิกจ่ายไปสู่การจำแนกหรือบรรจุหีบห่ออีกที
บทสรุป
AMRs ช่วยเปิดโอกาสใหม่ๆให้คลังสินค้าในด้านพัฒนาการของประสิทธิภาพ แต่ผู้บริหารและผู้ประกอบการควรคิดค้นวิธีการที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างคุ้มค่าที่สุด โดยเฉพาะการทำงานระหว่างคนและหุ่นยนต์ที่เหมาะสมและกลมเกลียวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดชั่วโมงการทำงาน ลดค่าใช้จ่าย และคุ้มค่ากับการลงทุน
แปลและเรียบเรียงจาก
https://www.mmh.com/article/other_voices_to_get_the_most_out_of_robots_optimize_your_people
โดยทีมงานสื่อสารการตลาด บริษัท เจนบรรเจิด จำกัด
*สื่อโฆษณา/ชิ้นงาน ข้อความในบทความนี้ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของ บริษัท เจนบรรเจิด จำกัด ผู้ใดละเมิดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
The commercial, including articles and artworks shown is an intellectual property of Jenbunjerd Co.,Ltd.
Unauthorized reproduction is prohibited and may subject to criminal prosecution.