
งานส่วนใดบ้างที่เหมาะจะนําระบบคลังสินค้าอัตโนมัติมาใช้ ลองมาดูกัน
คุณกําลังมองหาระบบคลังสินค้าอัตโนมัติเข้ามาทำงานแทนในคลังสินค้า? เเต่จะมีงานส่วนใดบ้างที่”ใช่”ที่เหมาะจะนําระบบคลังสินค้าอัตโนมัติมาใช้ เเละพัฒนาคลังสินค้าเดิมของคุณ
ระบบคลังสินค้าอัตโนมัติในความคิดของหลายๆคนอาจจะหมายถึงการใช้หุ่นยนต์ แขนกล รถขนถ่ายวัสดุอัตโนมัติ บางคนอาจจะนึกถึงซอฟท์แวร์ และระบบควบคุมต่างๆ อันที่จริงแล้วระบบคลังสินค้าอัตโนมัติครอบคลุมหลายมิติ ตั้งแต่การป้อนข้อมูลพื้นฐานอัตโนมัติ (Automatic Data Entry) ไปจนถึงการจัดเก็บสินค้า และการจัดส่ง โดยที่เราต้องค้นหาให้เจอว่ามีงานกลุ่มใดบ้างที่ทำซ้ำๆ เน้นขั้นตอน ใช้เวลามาก หรือมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดสูง และหาทางนำระบบคลังสินค้าอัตโนมัติเข้าทำงานแทน
งานในคลังสินค้าที่เหมาะที่จะใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาทดแทนมีหลายกลุ่มงาน เช่น งานเบิกจ่าย งานคัดแยกประเภท งานบันทึกความเคลื่อนไหวของสินค้า งานขนถ่ายสินค้า งานเคลื่อนย้ายสินค้า งานบริหารสินค้าคงคลัง เป็นต้น คลังสินค้าไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ก็สามารถเพิ่มระบบอัตโนมัติเข้าไปในส่วนงานต่างๆเหล่านี้ได้ เราสามารถแบ่งระบบคลังสินค้าอัตโนมัติได้เป็นระดับต่างๆ ตามลักษณะของงาน ความจำเป็น ความคาดหวังในอนาคต และข้อจำกัดด้านงบประมาณ
- ระบบอัตโนมัติขั้นพื้นฐาน เช่น การนำระบบบาร์โค้ดมาใช้ และคีย์ข้อมูลด้วย Barcode Scanner เพื่อลดเวลาและความผิดพลาดในการทำงาน
- ระบบอัตโนมัติด้านข้อมูล (System Automation หรือ Process Automation) เช่น WMS, RFID, เทคโนโลยีสั่งการด้วยเสียง
- ระบบอัตโนมัติที่มีชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวอยู่ด้วย (Mechanized Automation) เป็นระบบอัตโนมัติในเชิงอุปกรณ์หรือเครื่องจักร เช่น สายพานลำเลียง (Conveyors), ชั้นวางระบบกระสวย (Shuttle Rack)
- ระบบอัตโนมัติขั้นสูง เช่น ระบบคัดเเยกอัตโนมัติ (Automatic Sorters), การหยิบสินค้าอัตโนมัติ (Robotic Picking), รถขนถ่ายวัสดุอัตโนมัติ (AGVs), ระบบจัดเก็บและเบิกจ่ายอัตโนมัติ (AS/RS)
งานในคลังสินค้าที่สามารถเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติได้ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ด้านกระบวนการทำงาน (Process Automation) และด้านกายภาพ (Physical Automation)
Process Automation มีชื่อเรียกอีกชื่อคือ System Automation เป็นการยกระบบการทำงานดั้งเดิมเข้าสู่ระบบซอฟต์แวร์ โดยใช้โปรแกรมและอุปกรณ์ต่างๆนำข้อมูลเข้าระบบ เพื่อให้สามารถติดตามหรือเรียกดูย้อนหลังได้ และระบบจะช่วยในการตัดสินใจ เช่น ควรจัดเก็บที่ไหน ควรเบิกจ่ายอย่างไร จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไรให้มากที่สุดได้ กลุ่มงานที่ใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาทดแทนได้เช่น
- งานบันทึกข้อมูลความเคลื่อนไหวของสินค้า: การจัดเก็บสินค้าในคลังสินค้าจำเป็นต้องมีการบันทึกข้อมูลความเคลื่อนไหวของสินค้าอยู่ตลอดเวลา ป้ายบาร์โค้ด ชั้นวางติดบาร์โค้ด และอุปกรณ์อ่านจะช่วยลดเวลาในการทำงานได้มาก ช่วยเพิ่มความแม่นยำของข้อมูลและสต๊อก
- งานบริหารจัดการสินค้าคงคลัง อุปกรณ์ และกำลังคน โดยใช้ WMS นำข้อมูลสินค้าคงคลังทั้งหมดเข้าสู่ระบบรวมถึงการอัพเดทความเคลื่อนไหวภายในคลังสินค้ารายวัน และใช้โปรแกรมระบบบริหารคลังอัตโนมัติเข้ามาใช้แทนการจดบันทึกแบบดั่งเดิม ทำให้ติดตามงาน สินค้า และบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งจะช่วยในการเลือกพื้นที่การจัดเก็บที่เหมาะสมที่สุด และยังสามารถช่วยเตรียมงานเบิกจ่าย จัดเส้นทางการเบิกจ่ายตามลำดับสั่งซื้อ และจุดที่จัดเก็บ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว ความแม่นยำ และความปลอดภัย
Physical Automation เป็นการใช้อุปกรณ์กลไกต่างๆที่เป็นระบบอัตโนมัติในการเคลื่อนย้ายสินค้าภายในคลังสินค้า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัย กลุ่มงานที่ใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาทดแทนได้เช่น
- งานเบิกจ่าย อุปกรณ์ที่ช่วยเปลี่ยนงานเบิกจ่ายเป็นระบบอัตโนมัติได้ เช่น ชั้นวางแบบปรับเปลี่ยนได้ (Modular Shelving) ระบบหุ่นยนต์ แขนกล หุ่นยนต์อัตโนมัติ (Autonomous Mobile Robots) ชั้นวางระบบกระสวย (Shuttle Rack) ระบบจัดเก็บและเบิกจ่ายอัตโนมัติ จะช่วยให้เบิกจ่ายรวดเร็วแม่นยำมากยิ่งขึ้นอย่างมหาศาล
- งานขนถ่ายสินค้าขึ้นลงจากชั้นวาง การเลือกใช้ชั้นวางแบบอัตโนมัติ รวมถึงเทคโนโลยี การนำสินค้ามาถึงตัวบุคคล (Goods-to-Person) สามารถช่วยเพิ่มพื้นที่และปริมาณการจัดเก็บ และได้ความรวดเร็วมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
- งานเคลื่อนย้ายสินค้าไปยังจุดต่างๆ สายพานลำเลียงอัตโนมัติช่วยให้การเคลื่อนย้ายของสินค้าภายในคลังสินค้ารวดเร็วมากยิ่งขึ้น หรือพาหนะไร้คนขับ (Driverless AGVs) รถขนถ่ายวัสดุอัตโนมัติ (ฟอร์คลิฟท์ไร้คนขับ / รถยกลากไร้คนขับ) จะช่วยลดการพึ่งพาแรงงานคนได้มาก สามารถนำร่องไปยังตำแหน่งต่างๆ เพื่อนำสินค้าเข้า-ออกจากคลังสินค้าได้ ทั้งยังสามารถใช้งานในคลังสินค้าเดิมได้โดยไม่จำเป็นต้องก่อสร้างใหม่
การเปลี่ยนคลังสินค้าเดิมเป็นระบบคลังสินค้าอัตโนมัติให้ได้ประสิทธิภาพต้องผสมผสานระหว่าง Process Automation และ Physical Automation หรือพิจารณาใช้ระบบคลังสินค้าอัตโนมัติร่วมกับแรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้ในหลายๆส่วน มีสถิติว่าคนงานบางครั้งเดินมากถึงวันละ 20 กม.เพื่อปฎิบัติงานต่างๆภายในคลังสินค้า หากเราปรับให้แรงงานเปลี่ยนเป็นการหยิบเป็นโซน (Zone Picking) ในบริเวณที่จำกัด หรือ เบิกจ่ายแบบเป็นล็อต (Batch Picking) แรงงานก็สามารถโฟกัสกับการ process คำสั่งซื้อ และจัดการกับสินค้าที่ตัวเองดูแลได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้อุปกรณ์อัตโนมัติช่วยขนส่งสินค้าไปมาแทน โดยติดตั้งเซ็นเซอร์หรือใช้ RFID บนพาหนะไร้คนขับเพื่อให้สามารถทราบข้อมูลของสินค้าที่แม่นยำและทันสมัยตลอด
การเปลี่ยนคลังสินค้าให้เป็นระบบอัตโนมัติจะเป็นตัวช่วยสำคัญให้คลังสินค้าสามารถรับมือกับธุรกิจยุค 4.0 ได้ อย่างไรก็ตามต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆด้วย คลังสินค้าแต่ละแห่งมีลักษณะงาน ความจำเป็น และงบประมาณที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ว่างานทุกชนิดจะทดแทนได้ด้วยหุ่นยนต์ งานบางชนิดก็ยังเหมาะสมที่จะให้แรงงานคนทำมากกว่า เช่นกรณีสินค้าแตกหักได้ หรือมีรูปทรงไม่มตารฐาน การหาส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างการใช้แรงงานกับระบบอัตโนมัติ รวมทั้งมิติด้านต้นทุนและ ROI เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ การนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ ไม่มีแบบ one-size-fits-all จึงต้องศึกษาว่าระบบใดที่จะคุ้มค่าและเหมาะกับองค์กรของท่านที่สุด หากท่านต้องการคำปรึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนคลังสินค้าให้เป็นระบบอัตโนมัติ
*สื่อโฆษณา/ชิ้นงาน ข้อความในบทความนี้ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของ บริษัท เจนบรรเจิด จำกัด ผู้ใดละเมิดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
The commercial, including articles and artworks shown is an intellectual property of Jenbunjerd Co.,Ltd.
Unauthorized reproduction is prohibited and may subject to criminal prosecution.