
รู้หรือไม่? บริหารอะไหล่อย่างไร ให้รถยกพร้อมใช้งานเสมอ..
งานซ่อมบำรุง MRO (Maintenance, Repair, Overhaul) เป็นค่าใช้จ่ายแฝงที่อยู่ในทุกบริษัท ซึ่งปัจจุบันหลายบริษัทก็มีการตรวจสอบและลงรายละเอียดมากขึ้นว่าทำไมต้องเก็บอะไหล่ดังกล่าว และค่าใช้จ่ายเป็นเท่าไหร่ อย่างการบริหารอะไหล่รถยกดูเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อน ไม่ว่าจะใช้วิธีบริหารกันเอง หรือว่าจ้างให้บริษัทอื่นช่วยบริหารแทน ทั้งสองวิธีสามารถที่จะให้ผลลัพธ์ที่ดีทัดเทียมกันได้ โดยการบริหารที่ดีจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้มากถึง 15-20% เช่น อะไหล่ที่ไม่ได้เบิกใช้งานเลยนานกว่าหนึ่งปีก็ไม่ควรเก็บสต็อกไว้ แต่ถ้าต้องมีใช้งานบ้าง (มากกว่าสามครั้งในหนึ่งปี) ก็ควรเก็บสต็อกไว้บ้าง เพื่อลดโอกาสที่รถจะต้องหยุดเพราะไม่มีอะไหล่พร้อมเปลี่ยน
พิจารณารูปแบบการบริหารอะไหล่
แนวโน้มในสหรัฐฯ สัดส่วนระหว่างการบริหารอะไหล่เอง กับการว่าจ้างบริษัทภายนอกอยู่ที่ราว 50/50 แต่ในช่วงหลังก็เริ่มเอนเอียงไปที่การว่าจ้างมากขึ้น สาเหตุหนึ่งก็มาจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่บีบให้ทุกองค์กรต้องลดค่าใช้จ่าย ดังนั้นในการเลือกว่าจะบริหารด้วยวิธีไหน จึงควรพิจารณาจากสภาพการทำงานของแต่ละองค์กร รวมทั้งศึกษาความคุ้มค่าและประโยชน์ที่จะได้รับ เพื่อให้มีอะไหล่รถยกพร้อมใช้งานทันทีเมื่อต้องซ่อมรถยก
บริหารสต็อกอะไหล่แบบไหนที่เหมาะกับคุณ?
- บริหารสต็อกอะไหล่ต่างๆด้วยตัวเอง
บริษัทขนาดใหญ่ส่วนใหญ่มักจะมีทีมซ่อมบำรุงของตัวเอง นอกจากงานซ่อมบำรุงรถยกแล้ว ยังสามารถดูแลและซ่อมบำรุงระบบอื่นๆ เช่น เครื่องจักรที่ใช้ในสายการผลิต ระบบปรับอากาศ หรือระบบอาคารต่างๆ เป็นต้น การจัดเก็บอะไหล่ที่หน้างานช่วยให้งานซ่อมบำรุงสามารถทำได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลารออะไหล่ ทั้งยังสะดวกต่อการเบิกจ่ายและตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ในการบริหารสต็อกอะไหล่ต่างๆควรที่จะปรึกษาตัวแทนจำหน่ายรถยกควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้การสต็อกทั้งประเภทและจำนวนอะไหล่เหมาะสมกับรถยกที่ใช้งานอยู่
- สั่งซื้อตามความจำเป็นจากตัวแทนจำหน่าย ไม่ต้องสต็อกเอง
ในกรณีที่องค์กรไม่ต้องการแบกรับภาระในการสต็อกอะไหล่ เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่หรือบุคลากร ก็สามารถใช้วิธีสั่งซื้อตามความจำเป็นจากตัวแทนจำหน่ายก็ได้ แต่มีข้อเสียตรงที่ไม่สามารถซ่อมรถได้ทันที เพราะต้องใช้เวลาในการจัดส่งอะไหล่ หรือตัวแทนจำหน่ายอาจไม่มีอะไหล่ดังกล่าวในสต็อก ซึ่งจะทำให้ช่วงเวลาที่ไม่สามารถใช้งานรถยาวนานกว่า
- ทำ Consignment
อีกวิธีคือการทำ Consignment โดยบริษัทจัดสรรพื้นที่สำหรับจัดเก็บอะไหล่ไว้ที่หน้างาน แต่อนุญาตให้เฉพาะทีมซ่อมบำรุงของตัวแทนจำหน่ายเข้าถึงพื้นที่นั้นๆในการเบิกจ่ายอะไหล่ไปใช้งาน ซึ่งจะได้ประโยชน์ตรงที่มีอะไหล่พร้อมใช้งาน โดยไม่ต้องลงทุนด้านการบริหาร ระบบติดตามและเจ้าหน้าที่ประจำ รวมถึงช่วยประหยัดเรื่องเงินจมด้วย เพราะบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าอะไหล่ดังกล่าวจนกว่าจะมีการเบิกจ่ายไปซ่อมบำรุง นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ทีมซ่อมบำรุงของบริษัทสามารถเรียนรู้งานจากเจ้าหน้าที่ของตัวแทนจำหน่ายได้อีกด้วย แต่วิธีนี้ก็มีข้อเสียตรงที่เจ้าหน้าที่ของตัวแทนจำหน่ายต้องมีการเข้าออกพื้นที่อยู่เป็นประจำ อาจมีประเด็นสำหรับบริษัทที่เน้นเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย
ในกรณีที่บริษัทเช่ารถยกจากตัวแทนจำหน่ายแทนการซื้อ อาจไม่ได้รับประโยชน์จากการทำ Consignment มากนัก เนื่องจากทีมซ่อมบำรุงของตัวแทนจำหน่ายต้องนำอะไหล่มาเผื่อสำหรับการตรวจเช็คและซ่อมบำรุงประจำรอบอยู่แล้ว
*สื่อโฆษณา/ชิ้นงาน ข้อความในบทความนี้ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของ บริษัท เจนบรรเจิด จำกัด ผู้ใดละเมิดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
The commercial, including articles and artworks shown is an intellectual property of Jenbunjerd Co.,Ltd.
Unauthorized reproduction is prohibited and may subject to criminal prosecution.