
จากวิกฤต COVID-19 ธุรกิจแบบไหนที่จะฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปได้?
ธุรกิจของคุณ จะรอดพ้นจากเงื้อมมือของ COVID-19 หรือไม่?
และจะแก้ไขอย่างไร
จากวิกฤต COVID-19 เศรษฐกิจซบเซาเป็นเรื่องที่หนีไม่พ้น แต่จะเห็นได้จากอดีต ไม่ใช่ทุกธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำเหมือนกันเสมอไป ยกตัวอย่าง หลังวิกฤตการเงินโลกตลาดแบรนด์สินค้าฟุ่มเฟือยสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่ามากเมื่อเทียบกับแบรนด์มหาชนและยังสามารถรักษาการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาได้ตั้งแต่ปี 2010
อย่างที่ทราบกันดี เกิดความต้องการมหาศาลและฉับพลันในกลุ่มสินค้าจำเป็นอย่างแอลกอฮอล์เจลล้างมือฆ่าเชื้อ ยาลดไข้ หน้ากาก และในบางประเทศก็คือกระดาษชำระ ในขณะที่บางอุตสาหกรรมอย่างการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ และกิจกรรมใดๆก็ตามที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมากๆ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง บางองค์กรต้องล้มละลายเพราะความต้องการเกิดการหดตัว และมาตรการจากภาครัฐที่ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยของชีวิตเหนือความอยู่รอดของธุรกิจ
หลังวิกฤตครั้งนี้จะมีบางธุรกิจที่อยู่รอด เติบโต หรือดับไปเลย ธุรกิจที่จะฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปได้คือธุรกิจแบบไหน เงื่อนไขที่นำมาใช้พิจารณาคือ 1. สถานที่ตั้งมีความจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจหรือไม่ 2. ผู้ให้บริการและผู้รับบริการต้องอยู่พร้อมหน้ากันหรือไม่

ดำดิ่ง
จากภาพประกอบจะเห็นได้ว่าจากเกณฑ์ 2 ข้อนี้ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือกลุ่มดำดิ่ง ซึ่งสถานที่ตั้งมีความจำเป็นอย่างมากต่อการประกอบธุรกิจ และผู้ให้กับผู้รับบริการต้องอยู่พร้อมกันด้วย ยกตัวอย่าง เช่น คอนเสิร์ต การแข่งกีฬา ร้านอาหารแบบนั่งรับประทาน ธุรกิจท่องเที่ยวที่จัดเป็นกรุ๊ปใหญ่ เช่น เรือสำราญ และการศึกษาแบบดั้งเดิม ธุรกิจที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ ผู้ประกอบการและลูกค้าต้องอยู่ที่เดียวกันในเวลาเดียวกัน ในภาวะวิกฤตเรื่องโรคระบาดอย่างตอนนี้หรือที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต รูปแบบการทำธุรกิจลักษณะนี้จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด
ธุรกิจที่ผู้ให้และผู้รับบริการต้องอยู่ที่เดียวกันในเวลาเดียวกันเป็นธุรกิจที่มีความซับซ้อน และต้องอาศัยการประสานงานกันอย่างลึกซึ้ง อย่างสมัยก่อน รายการถ่ายทอดสดก็เข้าข่ายนี้ คือผู้ชมต้องไปนั่งหน้าจอทีวีเพื่อรอรับชมรายการโปรดให้ตรงเวลาออกอากาศ โมเดลนี้ถูกแทนที่ด้วย Netflix ซึ่งเป็นโมเดลที่ผู้ให้และผู้รับบริการไม่ต้องอยู่พร้อมกัน หรืออยู่ในที่เดียวกันอีกต่อไป ผู้ประกอบการจึงควรกลับมาคิดทบทวนกันถึงรูปแบบการให้บริการและสถานที่ให้บริการว่า จริงๆแล้วเวลากับสถานที่มีผลต่อธุรกิจของตนมากน้อยเพียงใด
อยู่รอด
ธุรกิจที่จะอยู่รอดจากวิกฤตครั้งนี้มี 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่ยังต้องพึ่งพาเรื่องสถานที่ประกอบการแต่ผู้ให้บริการไม่จำเป็นต้องอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันกับผู้รับบริการ เช่นร้านค้าแนว self service (บริการตัวเอง) ธุรกิจท่องเที่ยวทางธรรมชาติด้วยตัวเอง ส่วนกลุ่มที่สองคือธุรกิจที่ต้องอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันกับลูกค้าแต่ไม่ใช่ในสถานที่เดียวกัน เช่น การถ่ายทอดสดทางออนไลน์ การให้คำปรึกษาออนไลน์ ธุรกิจ delivery เป็นต้น
สำหรับกลุ่มที่ยังต้องพึ่งพาเรื่องสถานที่ประกอบการแต่ผู้ให้บริการไม่ต้องอยู่พร้อมกันกับผู้รับบริการนั้น สถานที่ประกอบการมีความสำคัญ แต่เรื่องของเวลามีความยืดหยุ่น ขณะที่อีกอีกกลุ่มเรื่องของเวลาที่ทั้งสองฝ่ายต้องอยู่พร้อมกันเป็นเรื่องจำเป็น แต่ไม่ต้องอยู่ในสถานที่เดียวกัน ธุรกิจทั้งสองกลุ่มนี้เอื้อให้ผู้ให้และรับบริการสามารถรักษาระยะห่างทางสังคมได้ ทั้งสองโมเดลนี้ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีโรคระบาดก็ดูจะน่าทำกว่า เพราะให้ความสะดวกและยืดหยุ่นทั้งในเรื่องของเวลาหรือสถานที่
เติบโต
ธุรกิจกลุ่มที่จะเติบโตได้ดีที่สุดคือกลุ่มที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ เช่น Netflix, Amazon, Uber Eats, Fortnite เป็นตัวอย่างของธุรกิจที่ไปได้ดีอยู่แล้วก่อนการเกิด COVID-19 และจะยิ่งสยายปีกจากการที่ต้องมี social distancing
บทสรุป
เพื่อความอยู่รอดในระยะยาว องค์กรที่จะทำธุรกิจที่ต้องพึ่งพาทั้งเวลาและสถานที่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตั้งจุดมุ่งหมายที่จะปรับโมเดลธุรกิจจากแบบที่ต้องพึ่งพาทั้งเวลาและสถานที่ ไปยังโมเดลที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า เพื่อให้อยู่รอด (Survive) และประสบความสำเร็จมากที่สุด (Thrive)
กรณีศึกษา การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเป็นตัวอย่างการปรับโมเดลจากแบบพึ่งพาเวลาและสถานที่ไปสู่การไม่พึ่งพาเลยได้ชัดเจนทีเดียว ในสองทศวรรษที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีแนวโน้มที่ลดการพึ่งพาเวลาและสถานที่ลงอย่างต่อเนื่อง จากลักษณะเดิมที่อาจารย์และนักศึกษาต้องมานั่งในห้อง lecture พร้อมกัน แต่ในสภาพการณ์ที่มีโรคระบาดอย่างตอนนี้ นักศึกษาจำเป็นต้องศึกษาเล่าเรียนทางไกลรูปแบบใหม่ โดยได้รับการคาดหวังว่าจะต้องได้รับความสำเร็จเทียบเท่าการเรียนแบบดั้งเดิม ซึ่งภาคธุรกิจก็ควรจะต้องหาทางปฏิรูปและอยู่รอดแบบมหาวิทยาลัยให้ได้
การปรับเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจเพื่อหนีจาก Dive สู่ Survive และไปสู่ Thrive
1. วิเคราะห์ถึงเวลาและสถานที่ประกอบการ
a. เราต้องให้บริการในเวลาเดียวกันกับที่ลูกค้าทำงานหรือไม่
b. เราต้องอยู่สถานที่เดียวกับลูกค้าขณะที่ส่งมอบการบริการหรือไม่
2. ท่านสามารถทำงานได้ผลเทียบเท่ากันหรือไม่ถ้าไม่ทำในเวลาพร้อมกันและสถานที่เดียวกัน
3. มีแง่มุมไหนของธุรกิจของท่านที่สามารถส่งมอบคุณค่าหรือบริการให้กับลูกค้าได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้วงเวลาเดียวกัน
4. มีแง่มุมไหนของธุรกิจของท่านที่สามารถส่งมอบคุณค่าหรือบริการให้กับลูกค้าได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่เดียวกัน
5. ให้ลองเลือกทำในแง่มุมที่มีอุปสรรคน้อยที่สุดก่อน
แปลและเรียบเรียงจาก
https://www.newsroom.co.nz/ideasroom
โดยทีมงานสื่อสารการตลาด บริษัท เจนบรรเจิด จำกัด
*สื่อโฆษณา/ชิ้นงาน ข้อความในบทความนี้ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของ บริษัท เจนบรรเจิด จำกัด ผู้ใดละเมิดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
The commercial, including articles and artworks shown is an intellectual property of Jenbunjerd Co.,Ltd.
Unauthorized reproduction is prohibited and may subject to criminal prosecution.