
เทคนิคการดูเเลเเบตเตอรี่อย่างคุ้มค่าเเละมีประสิทธิภาพ ทำได้อย่างไรบ้าง? มาดูกัน
การดูแลแบตเตอรี่รถยกที่ดีจะทำให้องค์กรสามารถใช้งานรถได้เต็มประสิทธิภาพและไม่เกิดค่าใช้จ่ายการซ่อมแบตเตอรี่เพิ่มเติม บทความนี้จะนำเสนอวิธีการบริหารแบตเตอรี่รถยก เพื่อช่วยให้คุณใช้เเบตเตอรี่รถยกให้คุ้มค่า เต็มประสิทธิภาพ
อย่างแรกที่สามารถทำได้ คือรวบรวมข้อมูลจำนวนรถยกและแบตเตอรี่ที่ใช้งาน รวมถึงรุ่น ขนาด อายุ สภาพโดยรวม การซ่อมบำรุง ไปถึงตู้ชาร์จที่ใช้งาน สภาพสายไฟและระบบการเติมน้ำกลั่น (เรามีแบบฟอร์มการบริหารจัดการแบตเตอรี่แชร์ให้ในบทความตอนที่แล้ว การดูเเลเเบตเตอรี่รถยก เรื่องสําคัญที่ธุรกิจของคุณไม่ควรละเลย) การบริหารแบตเตอรี่รถยกสำหรับคลังสินค้าขนาดใหญ่ที่อาจมีแบตเตอรี่มากถึงหลายร้อยก้อนถือเป็นงานที่ซับซ้อนและจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่เก็บประวัติและดูแลแบตเตอรี่โดยเฉพาะ
ถัดมาคือวิเคราะห์การใช้งานแบตเตอรี่ สมมติว่าต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง แบตเตอรี่ 1 ก้อนใช้งานได้นาน 8 ชั่วโมง แปลว่ารถยกหนึ่งคันต้องใช้แบตเตอรี่ทั้งหมด 3 ก้อน แบตเตอรี่ก้อนที่ 1 ถูกใช้ไฟไปประมาณ 80% เมื่อหมดกะ รถคันนั้นต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ไปใช้ก้อนที่ 2 เพื่อให้สามารถใช้งานในกะต่อไป และนำแบตเตอรี่ก้อนที่ 1 ไปชาร์จไฟ เมื่อขึ้นกะที่ 3 รถก็ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ไปใช้ก้อนที่ 3 แทนก้อนที่ 2 ในขณะที่แบตเตอรี่ก้อนแรกเข้าสู่ระยะการปล่อยก๊าซ (Degas) เมื่อวนกลับมายังกะที่ 1 ใหม่ แบตเตอรี่ก้อนที่ 3 ก็ต้องนำมาชาร์จ ในขณะที่ก้อนที่ 2 เข้าสู่ระยะปล่อยก๊าซ และก้อนที่ 1 สามารถนำมาใช้งานได้ ตัวอย่างนี้ใช้เวลา 8 ชั่วโมงต่อกะเป็นบรรทัดฐาน ซึ่งในการทำงานจริงอาจไม่ถึง 8 ชั่วโมงก็ได้
ท้ายสุดคือเรื่องน้ำกลั่น ซึ่งต้องมีการตรวจสอบเป็นประจำและต้องเติมทุก 1 หรือ 2 สัปดาห์ โดยการเติมนั้นมี 2 วิธี คือ
- ใช้วิธีกรอกทีละเซลล์ (ช่อง)
- ใช้ระบบท่อเติมแบบอัตโนมัติ (Auto Filling / Watering System)
อีกข้อสำคัญที่ไม่ได้อยู่ใน 4 ข้อหลัก (ดูได้จากบทความตอนที่แล้ว การดูเเลเเบตเตอรี่รถยก เรื่องสําคัญที่ธุรกิจของคุณไม่ควรละเลย) คือการปรับสภาพไฟของแบตเตอรี่ หรือ Equalization เพื่อให้แรงดันไฟในแต่ละเซลล์เท่ากัน สาเหตุที่แต่ละเซลล์สูญเสียแรงดันไฟนั้นมาจากการเกิดแร่ซัลไฟต์เกาะเมื่อทำการชาร์จไฟ การทำ Equalization ใช้เวลาต่อจากการชาร์จปกติประมาณ 6 ชม. และควรทำหลังจากการชาร์จไฟทุกๆ 10 รอบ (cycle)
คำแนะนำสำคัญในการดูแลรักษาแบตเตอรี่และเพื่อความปลอดภัยของรถยกและผู้ใช้งาน
- ตรวจสอบสภาพสายไฟและหัวต่อต่างๆเป็นประจำ งดใช้งานหากพบเจอความเสียหาย
- เติมน้ำกลั่นให้อยู่ระดับที่เหมาะสม ไม่พร่องหรือไม่เยอะจนเกินไป
- วัดระดับความถ่วงจำเพาะ (Specific Gravity) ของแต่ละเซลล์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
- สังเกตคราบเกลือตามพื้น ตัวถังหรือฝาของแบตเตอรี่ หากมี แปลว่ามีน้ำกรดรั่วไหล
- ผู้ใช้งานต้องมีการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตัว เช่น แว่นนิรภัย ถุงมือยาง
- ควรจัดพื้นที่ในการล้างหรืออาบน้ำเฉพาะ ในกรณีที่มีการปนเปื้อนสู่คน
- หากน้ำกรดไหลออกจากแบตเตอรี่ อาจจำเป็นต้องมีการล้างใหญ่เพื่อเจือจางความเป็นกรดลง
หากต้องการความช่วยเหลือหรือคำแนะนำเพิ่มเติม ผู้ให้บริการรถยกของท่านสามารถช่วยดูแล เพื่อให้อุปกรณ์อยู่ในสภาพที่ดีและทำงานได้เต็มที่ อย่าปล่อยให้แบตเตอรี่เป็นภาระต่อธุรกิจของคุณ
หากคุณคิดว่าการใช้แบตเตอรี่แบบปัจจุบันยังไม่ใช่คำตอบ โปรดติดตามตอนต่อไป เลือกเเบตเตอรี่เเบบที่ใช่ ให้เหมาะกับธุรกิจของคุณ
แปลและเรียบเรียงจาก https://www.mmh.com/article/is_poor_battery_maintenance_limiting_productivity
*สื่อโฆษณา/ชิ้นงาน ข้อความในบทความนี้ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของ บริษัท เจนบรรเจิด จำกัด ผู้ใดละเมิดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
The commercial, including articles and artworks shown is an intellectual property of Jenbunjerd Co.,Ltd.
Unauthorized reproduction is prohibited and may subject to criminal prosecution.