
เทคนิคการดูเเลเเบตเตอรี่อย่างคุ้มค่าเเละมีประสิทธิภาพ ทำได้อย่างไรบ้าง? มาดูกัน
การดูแลแบตเตอรี่รถยกที่ดีจะทำให้องค์กรสามารถใช้งานรถได้เต็มประสิทธิภาพและไม่เกิดค่าใช้จ่ายการซ่อมแบตเตอรี่เพิ่มเติม บทความนี้จะนำเสนอวิธีการบริหารแบตเตอรี่รถยก เพื่อช่วยให้คุณใช้เเบตเตอรี่รถยกให้คุ้มค่า เต็มประสิทธิภาพ
อย่างแรกที่สามารถทำได้ คือรวบรวมข้อมูลจำนวนรถยกและแบตเตอรี่ที่ใช้งาน รวมถึงรุ่น ขนาด อายุ สภาพโดยรวม การซ่อมบำรุง ไปถึงตู้ชาร์จที่ใช้งาน สภาพสายไฟและระบบการเติมน้ำกลั่น (เรามีแบบฟอร์มการบริหารจัดการแบตเตอรี่แชร์ให้ในบทความตอนที่แล้ว การดูเเลเเบตเตอรี่รถยก เรื่องสําคัญที่ธุรกิจของคุณไม่ควรละเลย) การบริหารแบตเตอรี่รถยกสำหรับคลังสินค้าขนาดใหญ่ที่อาจมีแบตเตอรี่มากถึงหลายร้อยก้อนถือเป็นงานที่ซับซ้อนและจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่เก็บประวัติและดูแลแบตเตอรี่โดยเฉพาะ
ถัดมาคือวิเคราะห์การใช้งานแบตเตอรี่ สมมติว่าต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง แบตเตอรี่ 1 ก้อนใช้งานได้นาน 8 ชั่วโมง แปลว่ารถยกหนึ่งคันต้องใช้แบตเตอรี่ทั้งหมด 3 ก้อน แบตเตอรี่ก้อนที่ 1 ถูกใช้ไฟไปประมาณ 80% เมื่อหมดกะ รถคันนั้นต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ไปใช้ก้อนที่ 2 เพื่อให้สามารถใช้งานในกะต่อไป และนำแบตเตอรี่ก้อนที่ 1 ไปชาร์จไฟ เมื่อขึ้นกะที่ 3 รถก็ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ไปใช้ก้อนที่ 3 แทนก้อนที่ 2 ในขณะที่แบตเตอรี่ก้อนแรกเข้าสู่ระยะการปล่อยก๊าซ (Degas) เมื่อวนกลับมายังกะที่ 1 ใหม่ แบตเตอรี่ก้อนที่ 3 ก็ต้องนำมาชาร์จ ในขณะที่ก้อนที่ 2 เข้าสู่ระยะปล่อยก๊าซ และก้อนที่ 1 สามารถนำมาใช้งานได้ ตัวอย่างนี้ใช้เวลา 8 ชั่วโมงต่อกะเป็นบรรทัดฐาน ซึ่งในการทำงานจริงอาจไม่ถึง 8 ชั่วโมงก็ได้
ท้ายสุดคือเรื่องน้ำกลั่น ซึ่งต้องมีการตรวจสอบเป็นประจำและต้องเติมทุก 1 หรือ 2 สัปดาห์ โดยการเติมนั้นมี 2 วิธี คือ
- ใช้วิธีกรอกทีละเซลล์ (ช่อง)
- ใช้ระบบท่อเติมแบบอัตโนมัติ (Auto Filling / Watering System)
อีกข้อสำคัญที่ไม่ได้อยู่ใน 4 ข้อหลัก (ดูได้จากบทความตอนที่แล้ว การดูเเลเเบตเตอรี่รถยก เรื่องสําคัญที่ธุรกิจของคุณไม่ควรละเลย) คือการปรับสภาพไฟของแบตเตอรี่ หรือ Equalization เพื่อให้แรงดันไฟในแต่ละเซลล์เท่ากัน สาเหตุที่แต่ละเซลล์สูญเสียแรงดันไฟนั้นมาจากการเกิดแร่ซัลไฟต์เกาะเมื่อทำการชาร์จไฟ การทำ Equalization ใช้เวลาต่อจากการชาร์จปกติประมาณ 6 ชม. และควรทำหลังจากการชาร์จไฟทุกๆ 10 รอบ (cycle)
คำแนะนำสำคัญในการดูแลรักษาแบตเตอรี่และเพื่อความปลอดภัยของรถยกและผู้ใช้งาน
- ตรวจสอบสภาพสายไฟและหัวต่อต่างๆเป็นประจำ งดใช้งานหากพบเจอความเสียหาย
- เติมน้ำกลั่นให้อยู่ระดับที่เหมาะสม ไม่พร่องหรือไม่เยอะจนเกินไป
- วัดระดับความถ่วงจำเพาะ (Specific Gravity) ของแต่ละเซลล์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
- สังเกตคราบเกลือตามพื้น ตัวถังหรือฝาของแบตเตอรี่ หากมี แปลว่ามีน้ำกรดรั่วไหล
- ผู้ใช้งานต้องมีการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตัว เช่น แว่นนิรภัย ถุงมือยาง
- ควรจัดพื้นที่ในการล้างหรืออาบน้ำเฉพาะ ในกรณีที่มีการปนเปื้อนสู่คน
- หากน้ำกรดไหลออกจากแบตเตอรี่ อาจจำเป็นต้องมีการล้างใหญ่เพื่อเจือจางความเป็นกรดลง
หากต้องการความช่วยเหลือหรือคำแนะนำเพิ่มเติม ผู้ให้บริการรถยกของท่านสามารถช่วยดูแล เพื่อให้อุปกรณ์อยู่ในสภาพที่ดีและทำงานได้เต็มที่ อย่าปล่อยให้แบตเตอรี่เป็นภาระต่อธุรกิจของคุณ
หากคุณคิดว่าการใช้แบตเตอรี่แบบปัจจุบันยังไม่ใช่คำตอบ โปรดติดตามตอนต่อไป เลือกเเบตเตอรี่เเบบที่ใช่ ให้เหมาะกับธุรกิจของคุณ
แปลและเรียบเรียงจาก https://www.mmh.com/article/is_poor_battery_maintenance_limiting_productivity